วันจันทร์ที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2560

เจ้าหญิงเมงอทเวกับความรักที่ถูกกีดกัน





ประวัติเจ้าหญิงเมงอทเว

          เจ้าหญิงเมงอทเว พระราชธิดาในพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองกับพระสุพรรณกัลยา พระพี่นางในสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
เจ้าหญิงเมงอทเว หรือ เจ้าหญิงเจ้าภุ้นชิ่ ทรงเป็นพระราชธิดาในพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองกับพระสุพรรณกัลยา ซึ่งพระสุพรรณกัลยาเป็นพระพี่นางในสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และสมเด็จพระเอกาทศรถ เนื่องจากพระสุพรรณกัลยาทรงเป็นองค์ประกันในพม่า พระสุพรรณกัลยาจึงมีพระนามภาษาพม่าว่า อเมี๊ยวโหย่ว และเชื่อว่าเป็นมเหสีที่พระเจ้าบุเรงนองทรงโปรดปราน ส่วนพระนามของพระราชธิดา โดยได้รับพระราชทานพระนามว่า เจ้าภุ้นชิ่ ซึ่งมีความหมายว่า ผู้มีสติปัญญาและพระบารมี แต่โดยมากจะรู้จักกันในพระนาม เมงอทเว อันมีความหมายว่า "พระธิดาองค์สุดท้อง" (และเป็นพระธิดาองค์สุดท้ายของพระเจ้าบุเรงนองด้วย)
พระสุพรรณกัลยาได้ทรงครรภ์ตั้งแต่ตอนที่พระเจ้าบุเรงนองกำลังทรงศึกกับล้านช้างที่เมืองลโบ (ปัจจุบันอยู่ชายแดนไทย-ลาว) เมื่อเสด็จมาถึงกรุงหงสาวดีได้ไม่นานพระธิดาพระองค์น้อยก็ประสูติ เมื่อ พ.ศ.2113 พระเจ้าบุเรงนองทรงโสมนัสมาก พระราชทานนามพระธิดาพระองค์ว่าเจ้าภุ้นซี แต่พระองค์ทรงพอพระทัยที่จะเรียกพระธิดาของพระองค์โดยชื่อเล่นว่ามังอะถ้อย (เจ้าหญิงน้อย)
หลังจากงานบูชามหาเจดีย์ชเวดากองจบสิ้นลง พระเจ้าบุเรงนองได้นิมนต์พระสงฆ์พม่า มอญ เชียงใหม่ และไทใหญ่ 3,500 รูป เจริญพระพุทธมนต์ และทำพิธีพุทธาภิเษกพระพุทธรูปหล่อด้วยทองคำ เงิน สำริด และปัญจโลหะ อย่างละองค์ ในการนี้พระเจ้าบุเรงนองได้ทำการเฉลิมพระยศพระราชโอรส และพระราชธิดา โดยในการนี้ เจ้าหญิงเจ้าภุ้นชิ่ พระราชธิดาในพระสุพรรณกัลยาได้รับพระราชทานตำแหน่งเป็น พิษณุโลกเมียวซา เนื่องจากทรงได้รับสิทธิ์ในภาษีประจำปีที่ได้จากพิษณุโลก นับแต่นั้นมาทุกคนจึงขานพระนามพระราชธิดาพระองค์นี้ว่า เจ้าหญิงพิษณุโลก
          มิกกี้ ฮาร์ท (Myin Hsan Heart) นักประวัติศาสตร์ชาวพม่าได้นำเสนอข้อมูลที่กล่าวถึงเจ้าหญิงเจ้าภุ้นชิ่ หรือเจ้าหญิงพิษณุโลก ได้ปรากฏว่าได้ตามเสด็จพระราชมารดาออกมาประทับนอกพระราชวังกัมโพชธานี โดยเจ้าหญิงเจ้าภุ้นชิ่ได้เสกสมรสกับ เจ้าเกาลัด พระโอรสของเจ้าอสังขยา เจ้าเมืองตะลุป ซึ่งเป็นชาวไทใหญ่ ซึ่งเป็นที่ปรึกษาของพระเจ้ามังรายกะยอชวา โอรสองค์ที่สองของพระเจ้านันทบุเรง และมีพระธิดาด้วยกันคือ เจ้าหญิงจันทร์วดี ซึ่งหมายความว่าในช่วงสงครามยุทธหัตถี พ.ศ. 2135 พระสุพรรณกัลยาซึ่งเป็นพระมารดามิได้ประทับอยู่ในหงสาวดีแต่ทรงประทับอยู่ในอังวะ
จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2137 พระเจ้าตองอู พระเจ้านยองยัน และพระเจ้าเชียงใหม่ ต่างแยกตัวเป็นอิสระจากหงสาวดี พระเจ้านยองยันจังได้เข้าครองกรุงอังวะที่เจ้าหญิงพิษณุโลก และพระมารดาอาศัยอยู่ อีกทั้งยังเป็นผลดีแก่ทั้งสองพระองค์ด้วย เนื่องจากพระเจ้านยองยันนั้นเป็นพระโอรสองค์หนึ่งของพระเจ้าบุเรงนอง ทั้งยังมีความคุ้นเคยกับเจ้าอสังขยาบิดาของเจ้าเกาลัด ภายหลังเจ้าเกาลัดจึงได้นำทหาร 3,000 นายออกจากหงสาวดีไปสวามิภักดิ์ต่อพระเจ้านยองยันด้วยเหตุนี้ พระสวามีในเจ้าภุ้นชิ่จึงได้รับพระราชทานนามเป็น เจ้าโกโตรันตรมิตร และได้รับพระราชทานตำแหน่งเสนาบดีเช่นเดียวกับเจ้าอสังขยาผู้เป็นพระบิดา
ภายหลังจากการสวรรคตของพระเจ้านยองยัน พระเจ้าสุทโธธรรมราชาพระราชโอรสจึงได้ครองราชย์ต่อ โดยพระองค์ได้แต่งตั้งให้เจ้าโกโตรันตรมิตรเป็นที่ปรึกษาของพระนางอดุลจันทร์เทวี พระอัครมเหสีของพระองค์ โดยพระอัครมเหสีได้มีความรักใคร่เอ็นดูเจ้าหญิงจันทร์วดีเป็นอันมาก เมื่อเจ้าหญิงจันทร์วดีมีพระชนมายุได้ 20 พรรษาก็ได้เสกสมรสกับเจ้าจอสูร์ จากเมืองส้าในไทใหญ่ ในปี พ.ศ. 2168 และได้ให้พระประสูติกาลพระโอรสพระนามว่า เจ้าจันทร์ญี และพระธิดา นามว่า เจ้ามณีโอฆ
ภายหลังเจ้าหญิงมณีโอฆได้เสกสมรสกับมหาเศรษฐีชาวอังวะ (พ.ศ. 2191-2192) และมีบุตรชายด้วยกันนามว่า กุลา โดยนายกุลาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ในสมัยพระเจ้าศรีมหาสีหสูรสุธรรมราชา เป็น "เจ้ารูปลังกา" และท่านผู้นี้ก็เป็นผู้แต่งพงศาวดารมหาราชวงษ์ หรือพงศาวดารพม่าที่มีชื่อเสียงที่สุดฉบับหนึ่งในปี พ.ศ. 2257
ทั้งนี้จากพงศาวดารของไทยและพงศาวดารฉบับหอแก้วที่ระบุว่า
พระสุพรรณกัลยาสิ้นพระชนม์ขณะประทับในพระที่พร้อมพระราชโอรสและพระสุพรรณกัลยากำลังทรงพระครรภ์อยู่ด้วย แสดงว่าพระราชโอรสพระองค์นั้นคงจะมีพระชันษายังเยาว์อยู่ ซึ่งจะเป็นข้อสันนิษฐานได้ว่าพระราชโอรสอาจจะทรงเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าบุเรงนอง หากพระชนม์เกิน 12 พรรษา แต่ถ้าหากพระชนม์ต่ำกว่า 12 พรรษาคงจะต้องเป็นพระราชโอรสของพระเจ้านันทบุเรงและหากพระสุพรรณกัลยาทรงพระครรภ์จริงก็ต้องถือว่าพระราชบุตรในพระครรภ์ต้องเป็นพระราชบุตรในพระเจ้านันทบุเรง ซึ่งทุกพระองค์ได้สิ้นพระชนม์พร้อมพระสุพรรณกัลยาพระราชมารดา มีแต่เจ้าหญิงเจ้าภุ้นซีเพียงพระองค์เดียวที่ทรงรอดพ้นมาได้
           สำหรับเรื่องราวความรักและชีวิตส่วนพระองค์ของเจ้าหญิงพิษณุโลกหรือเจ้าหญิงเจ้าภุ้นซีพระองค์นี้ไม่เคยถูกเปิดเผยหรือมีข้อมูลนำเสนอให้คนไทยส่วนใหญ่ได้รับรู้มาก่อนเลย เสมือนหนึ่งรักที่ถูกปกปิดในประวัติศาสตร์ชาติไทยมาโดยตลอด แต่เมื่อมีโอกาสได้มีข้อมูลรายละเอียดเหตุการณ์เกี่ยวกับการสืบสายพระโลหิตในลำดับชั้นที่ 4 นับตั้งแต่สมเด็จพระศรีสุริโยทัยสืบสายต่อมายังพระวิสุทธิ์กษัตรีย์สืบสายต่อมายังพระสุพรรณกัลยาและสืบสายจนมาถึงเจ้าหญิงพิษณุโลกและพระทายาทในลำดับต่อมา
ดังที่ได้กล่าวไว้ในพระราชประวัติข้างต้นนั้นได้ทำให้เกิดเป็นความหวังในอนาคตว่าอาจจะมีหลักฐานในพม่าและไทยให้สืบค้นได้เพิ่มเติมมากกว่าที่เป็นอยู่ถึงพระราชประวัติของพระสุพรรณกัลยาพระราชมารดากับเจ้าหญิงพิษณุโลกมิให้กลายเป็นรักที่ถูกปิดแต่จะแปรเปลี่ยนเป็นรักที่ถูกเปิดจากนักประวัติศาสตร์รุ่นใหม่ในภายหน้าให้คนไทยทุกคนได้รับรู้และสำนึกถึงพระกรุณาธิคุณที่ได้กระทำต่อแผ่นดินไทยของสายพระโลหิตนักสู้ผู้กล้าอย่างมิรู้ลืมตลอดกาล

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น